Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของ สกสว. และการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เป็นวิทยากร โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมต้อนรับผู้อำนวยการ สกสว. และกล่าวเปิดการบรรยาย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัยเข้าร่วมฟังบรรยายเป็นจำนวนมาก ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เวลา 13.30-15.15 น. ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์มงคลสุข ก่อนร่วมหารือแผนขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) 2563-2565 กับผู้บริหารส่วนงานและนักวิจัยอาวุโสจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องประชุม K101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในการประชุมวิพากษ์แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับการจัดเตรียมแผนการปฏิบัติการ ววน. ของหน่วยงาน โดยระดมความคิดหาจุดอ่อน จุดแข็งของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในปัจจุบัน ไปจนถึงแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หวังพัฒนาระบบสนับสนุนทุนผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการแข่งขันของประเทศ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมให้ดียิ่งขึ้น

30

คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พร้อมนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยหลากหลายผลงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในงานมหกรรมคุณภาพการศึกษา เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาพญาไท ครั้งที่ 2 และมหกรรมคุณภาพการศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อหลัก “การเรียนรู้ผ่านเครือข่าย: การเดินทางสู่องค์กรที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศด้านการศึกษา Network learning: Journey toward educational excellence” ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องประชุมมงกุฎเวช ชั้น 4 อาคารพระมงกุฎเกล้าเวชวิทยา ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 08.00 – 16.00 น.

ภายในงานมหกรรมคุณภาพฯ มีคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ร่วมนำเสนอผลงาน โดย ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสารสนเทศ นำเสนอเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาจารย์ที่ปรึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการอภิปรายกลุ่มเรื่อง Faculty Development Program: How to Innovate & Implement ด้านนักศึกษา นายสุคนธ์ กมลสัมฤทธิชัย อดีตนายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง Active student learning: Student’s perspective นอกจากนั้นยังมีคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่จากภาควิชาต่างๆ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรินทร์ ณัฐวุฒิ จากภาควิชาฟิสิกส์ ดร.ชนันท์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ จากภาควิชาคณิตศาสตร์ และนางภัคจิรา เกตุบุตร ร่วมกับนางสาวอัสนีย์ เหมกระศรี จากภาควิชาชีววิทยา นำเสนอผลงานแบบ poster และยังมีการนำเสนอ Free paper presentation หัวข้อการสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาแพทยศาสตร์ ด้วยกิจกรรมและปาถกฐาพิเศษ โดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล โดย นางสาวรุ่งรัตน์ สุริยินทร์ จากงานความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกด้วย

23

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/aug62-2.php

ชาวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สวมเสื้อสีเหลืองแสดงความจงรักภักดี พร้อมใจถวายราชสดุดี ถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญ โดยมิทรงย่อท้อ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ และบ้านเมืองเสมอมา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 67 พรรษา 28 กรกฎาคม 2562 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด อมรสมานกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในพิธี ถวายราชสดุดี ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีจอมราชา ณ หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 8.00 น.

13

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jul62-26.php

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมศักยภาพอาจารย์ เตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง จัดสัมมนาวิชาการ ทางรอดของคณะวิทยาศาสตร์ในยุคของการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ณ โรงแรม ไมด้า เดอซี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2562

โดยกิจกรรมในวันแรกได้รับเกียรติจาก อ.ชัชวิณทร์ ภักดี เป็นวิทยากรกระบวนการในกิจกรรม สร้างภาวะผู้นำและการเสริมศักยภาพการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างบรรยากาศสนุกสนานในการทำงานเป็นทีมเวิร์คได้เป็นอย่างดี ก่อนเริ่มกิจกรรมระดมความคิดเห็นโดยคณาจารย์ เกี่ยวกับการวิจัย การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานในรายวิชาที่ให้บริการกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนแพทยศาสตร์ การเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติ หลักสูตรปกติ และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการบริการวิชาการและการบริหารจัดการ ภายใต้ยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหาร

สำหรับกิจกรรมในวันที่สองเป็นการระดมความคิดเห็นต่อเนื่องจากกิจกรรมในวันแรก โดยมีการเปิดโอกาสให้อาจารย์เปิดใจปรึกษาปัญหากับผู้บริหาร หรือหัวหน้าส่วนงานต่างๆ นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้บรรยายเกริ่นนำในหัวข้อ Embracing disruptive changes : การปรับตัวด้วยความเข้าใจเพื่อการก้าวไปข้างหน้าของคณะวิทยาศาสตร์ในยุค Disruptive changes และการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ ทางรอดของคณะวิทยาศาสตร์ในยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อีกด้วย

และในวันสุดท้าย ได้มีการนำเสนอผลงานจากการระดมความคิดเห็นต่อเนื่องตลอด 2 คืน 3 วัน จากคณาจารย์ จากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน และเดินทางกลับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยสวัสดิภาพ

33

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-28.php

17หากเปรียบการศึกษาวิชาทางการแพทย์เสมือนต้นไม้ใหญ่ การศึกษาวิชามหกายวิภาคศาสตร์จึงเปรียบเสมือนรากของไม้ใหญ่ที่ค้ำจุนและเป็นรากฐานวิชาทางการแพทย์ ในการศึกษาวิชามหกายวิภาคศาสตร์นี้จำเป็นต้องศึกษาจากร่างกายของผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาที่เราเรียกขานท่านว่า “อาจารย์ใหญ่” เช่นนั้นแล้วอาจารย์ใหญ่จึงเสมือนผู้ค้ำจุนศาสตร์ทางการแพทย์นั่นเอง ในปีการศึกษา 2561 การเรียนการสอนรายวิชามหกายวิภาคศาสตร์ได้เสร็จสิ้นลง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 จาก 4 สถาบัน ได้แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 378 คน ตลอดจนนักศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) และนักศึกษาบัณฑิตหลักสูตรกายวิภาคศาสตร์และชีววิทยาโครงสร้าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ขึ้น ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานครฯ ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2562 โดยในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2562 เป็นวันสวดพระอภิธรรมศพ ณ ศาลา 17-18 โดยมีการวางพวงหรีดเคารพศพจากนักศึกษาแพทย์ทั้ง 4 สถาบัน ภาควิชากายวิภาคศาสตร์โดยหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ รศ. ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล ผู้แทนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ. ดร.กนกพรรณ วงศ์ประเสริฐ ผู้แทนคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล อ. ดร.สิริลักษณ์ มาเกิด ผู้แทนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ศ.เกียรติคุณ สพญ.ยินดี กิติยานันท์ ผู้แทนคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข อ. ดร.ปวรี นนทะแสน และจากคณะวิทยาศาสตร์ โดยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ ประธานในพิธีวางพวงหรีดเคารพศพอาจารย์ใหญ่ การวางพวงหรีดเคารพศพอาจารย์ใหญ่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการให้ความเคารพ และสำนึกในความเสียสละของอาจารย์ใหญ่อย่างสูงสุด จากนั้นประธานในพิธีฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณญาติอาจารย์ใหญ่ที่ได้ทำตามความประสงค์ของอาจารย์ใหญ่ ส่งมอบร่างบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งให้มาเป็นอาจารย์ใหญ่ จากนั้นประธานฯ จุดธุปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ตู้พระธรรม และเครื่องทองน้อยเคารพศพ พระสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล จากนั้นประธานฯ อาจารย์ ตัวแทนญาติประเคนเครื่องไทยธรรม และผ้าไตรบังสุกุล กรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี

ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2562 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ณ ศาลา 1 โดยได้เคลื่อนศพเวียนเมรุ 3 รอบก่อนนำขึ้นตั้งบนจิตกาทาน ขบวนอัญเชิญกล่องเพลิงพระราชทานเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 10.00 น. พิธีทอดผ้าไตรบังสุกุลโดย อ. นพ.จิโรจน์ สูรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตัวแทนญาติ และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ รศ. ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล ประธานในพิธี ทอดผ้าไตรบังสุกุล และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงตามลำดับ ในพีธีพระราชทานเพลิงศพฯมีญาติร่วมงานกว่า 600 คน

ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 พิธีบรรจุอัฐิ ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน จากนั้นเดินทางไปท่าเรือนายทหารสัญญาบัตร โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ เพื่อลงเรือไปลอยอังคาร โดย รศ. ดร.เจริญศรี ธนบุญสมบัติ และ ผศ. ดร.สมยศ ศรีดุรงฤทธิ์ ตัวแทนนักศึกษาแพทย์ และ ตัวแทนญาติ ได้ร่วมกันลอยอังคาร ส่งเถ้าอัฐิของอาจารย์ใหญ่สู่ธรรมชาติ เมื่อเกิดจากธาตุทั้ง 5 สุดท้ายชีวิตก็ต้องกลับสู่ธาตุตามธรรมชาติเช่นกัน แต่ก่อนร่างกายจะเน่าเปื่อยผุพังไปนั้น อาจารย์ใหญ่ท่านเลือกที่จะให้ร่างของท่านยังประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์ พวกเราจึงน้อมจิตนำส่งดวงวิญญานของท่านอาจารย์ใหญ่สู่สุคติภูมิ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-14.php

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้การต้อนรับ Dr.Raphaël Rodriguez นักวิจัยคนแรกของประเทศฝรั่งเศส ที่ได้รับรางวัล Tetrahedron Prize 2019 ที่จะจัดพิธีมอบรางวัลในการประชุม The 20th Tetrahedron Conference ณ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2562 โดยในโอกาสนี้ Dr.Raphaël Rodriguez ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Reprogramming the reactivity of iron in cancer cells” ในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ซึ่งการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ทั้งภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ Dr.Raphaël Rodriguez ยังได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการศึกษาและการวิจัย ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Université PSL ประเทศฝรั่งเศส โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ หัวหน้าภาควิชาเคมี รวมถึง รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี (Center of Excellence for Innovation in Chemistry: PERCH-CIC) และ อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือด้วย

 

06

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-17.php

 

03คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมประชุมหารือเรื่องการบูรณาการการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักศึกษาแพทย์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุม SC2-222 คณะวิทยาศาสตร์ ศาลายา โดยมีแนวทางหลักคือการมุ่งเน้นส่วนที่เป็นกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น รวมถึงการปรับรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้สอดคล้องกับการใช้งานของนักศึกษาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ได้โดยตรง โดยมีเป้าหมายว่าหลักสูตรที่ร่วมกันคิดค้นขึ้นเพื่อนักศึกษาแพทย์ในครั้งนี้จะสำเร็จในปี 2564

พร้อมกันนี้ ทีมผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริการการศึกษา ศาลายา นำทีมคณาจารย์และผู้ปฏิบัติงานคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เยี่ยมชมศักยภาพการจัดการเรียนการสอนภาคปฎิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีทั้งห้องปฏิบัติการด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ห้องปฏิบัติการเคมี ห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ และห้องปฏิบัติการ STEM ที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดขั้นสูง

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-10.php

05คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดโอกาสให้นักศึกษาวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ 4 และนักศึกษาทุนโครงการพิเศษแสดงความสามารถทางการวิจัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนความรู้ในวิทยาการต่างสาขานอกเหนือสาขาตนเองเป็นเวทีแรก ผ่านกิจกรรมนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 20: SciEx2019 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศสิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 ณ ห้อง L-01 ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

กิจกรรมภายในงานมีการจัดการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ เรื่อง Bridge the Gap between Science and Business โดย ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และมีการนำเสนอผลงานของนักศึกษาในสาขาต่างๆ  หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น  Plenary Session, Short Talk รวมถึงการนำเสนอผลงานแบบ Poster ซึ่งเปิดให้นักศึกษาและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เข้าชมนิทรรศการ อีกด้วย

หลังจากจบการนำเสนอผลงาน ได้มีการมอบประกาศนียบัตรให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมแสดงผลงาน และนักศึกษาทุนมหิดลวิทยาจารย์ พร้อมมอบรางวัล ดังนี้

เกียรติบัตรเชิดชูด้านกิจกรรมนักศึกษา ประจําปีการศึกษา 2561 ได้แก่

  • นายสุคนธ์ กมลสัมฤทธิชัย นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    โดยเป็นตัวแทนรับให้กับกรรมการสโมสรนักศึกษาทั้งหมด

รางวัลนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ดีเลิศ ประจําปีการศึกษา 2561 ได้แก่

  • นายสุคนธ์ กมลสัมฤทธิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี

รางวัล Plenary Talk ได้แก่

  • น.ส. นัฐมล อินแถลง  สาขาวิชาเคมี
  • Mr. Zoubeir Saraw  กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ
  • นาย วรินท์ แพททริค แม็คเบลน สาขาวิชาฟิสิกส์
  • น.ส. พัทธนันท์ บุญอยู่คง  สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • น.ส. พัสนันท์ ล้อมวงษ์โสภณ  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • น.ส. ศิวลี โกศลศศิธร  สาขาวิชาชีววิทยา
  • น.ส. อวภาส์ จิรบรรจงกิจ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • น.ส. ญาดา กตัญญพันธุ์  สาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์

รางวัล Presentation Skill Award ได้แก่

  • นาย ธัญญเนตร อ่ำบริสุทธิ์  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • น.ส. ปุณยาพร โง้วสวัสดิ์  สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • นาย ธัชชัย จงมนตรี   สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • นาย ศิวนาถ บุตรคาม  สาขาวิชาชีววิทยา

รางวัล Popular Vote ได้แก่

  • นาย ธัญญเนตร อ่ำบริสุทธิ์  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • นาย ศิวนาถ บุตรคาม  สาขาวิชาชีววิทยา

รางวัล Poster ดี ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่

  • นาย ชาตินันท์ ชูโต๊ะ  สาขาวิชาชีววิทยา
  • น.ส. ดาวรุ่ง นามูล   สาขาวิชาชีววิทยา
  • น.ส.ริญญ์รภัส อภิกุลวราวัลย์ และ น.ส.ยอดขวัญ พุ่มไสว   สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร

รางวัล Poster ดีเด่น ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่

  • น.ส. พัสนันท์ ล้อมวงษ์โสภณ  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • น.ส. ประภัสสร วงศ์ข้าหลวง  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • นางสาวพลอยพรรณ ชินวร  สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์

รางวัล Poster ดีเลิศ ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่

  • นาย ยศวัตน์ เรืองสุวรีย์  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
  • นางสาวอัญชิสา สามเสน   สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์
  • น.ส. ณัฐสรณ์ วัชรดุลยรัตน์  สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

รางวัล Poster ดี ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่

  • นางสาว อรปรียา ชัยชมภู  สาขาวิชาธรณีศาสตร์
  • นางสาว พนิดา รอดผึ้ง  สาขาวิชาธรณีศาสตร์
  • Mr. Zoubeir Saraw  กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และ นวัตกรรมวัสดุ

รางวัล Poster ดีเด่น ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่

  • น.ส. พนิดา สายหยุด  สาขาวิชาเคมี
  • น.ส. ฐิตา นิลพัฒน์   สาขาวิชาเคมี
  • น.ส. ชญานิน ประพฤติ  สาขาวิชาธรณีศาสตร์

รางวัล Poster ดีเลิศ ผลงานประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่

  • นาย กฤตเมธ บุพพาศิรกุล  สาขาวิชาเคมี
  • นาย อภิชา พรธวัชชัย  สาขาวิชาเคมี
  • นาย ปิติพงษ์ คงสัตย์  สาขาวิชาเคมี

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-7-1.php

09ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง วรานันท์  บัวจีบ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 51 ปี การก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยร่วมพิธีเจริญชัยมงคลคาถาและประพรมน้ำพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์จำนวน 9 รูป ณ  ห้องประชุมเทพรัตนทันตกิจสโมสร ชั้น 4 ต่อด้วยพิธีสักการะพระพุทธเทพทันตราช จากนั้นจึงวางพวงมาลัย ณ รูปปั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทพ.อิศระ ยุกตะนันทน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีท่านแรก ก่อนถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก บริเวณโถงชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-7.php

04คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID) ครั้งที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข ชั้น 1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในการประชุมครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ โดยมี นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานในการประชุม และมีคณบดีคณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการจากสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในย่านโยธี ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันพยาธิวิทยา องค์การเภสัชกรรม รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขเป็นคณะกรรมการ

ซึ่งโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้นำเสนอภาพรวมและผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ด้านนวัตกรรมในปัจจุบัน ก่อนที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับการดำเนินการเสนอโครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แผนการดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ แผนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลในย่าน YMID แนวทางความร่วมมือเรื่อง Multicenter clinical trial รวมถึงการสร้างและติดตามความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาให้ YMID เป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ ที่สามารถช่วยลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun62-6.php