Feeds:
เรื่อง
ความเห็น

Posts Tagged ‘Science Cafe’

04เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล สถาบัน Swedish Academy ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2018 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ ศาสตราจารย์ เจมส์ พี. แอลลิสัน (James P. Allison) จากมหาวิทยาลัยเทกซัสของสหรัฐอเมริกา และ ศาสตราจารย์ ทาซุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) จากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น ผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของมนุษย์ (cancer immunotherapy) ผ่านการปลดล็อคตัวยับยั้งโปรตีนบนเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยที่มีหน้าที่เข้าจู่โจมเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และเพื่อเป็นการอธิบายผลงานชิ้นสำคัญนี้ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ในปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Café ตอน เจาะลึกรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2018 ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 – 15.00 น. ณ ห้อง L-05 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ทพ.สถิตย์ สิริสิงห ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษประจำภาควิชาจุลชีววิทยา รองศาสตราจารย์ ดร. พญ.ชนิตรา ธุวจิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านการรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้งสองท่าน

ศาสตราจารย์แอลลิสัน ได้ค้นพบโปรตีน CTLA-4 ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับบนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) และพบว่าโมเลกุลของตัวรับชนิดนี้จะยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย ในปี ค.ศ.1995 จึงทดลองปิดกั้นการทำงานของ โปรตีน CTLA-4 ในหนูทดลอง นำไปสู่การขยายผลการศึกษาโดยนำไปผลิตเป็นยาเพื่อบำบัดมะเร็งผิวหนัง ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้แอนติบอดีต้านโปรตีน CTLA-4 เป็นยารักษามะเร็งผิวหนังที่มีชื่อทางการค้าที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เยอร์วอย” (Yervoy) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยในบางกรณี โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน ในปี ค.ศ.2011 ส่วนทางด้านศาสตราจารย์ฮอนโจนั้น ได้ค้นพบโปรตีนบนเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อ ลิแกนด์ PD-1 (ligand PD-1) และพบว่าการยับยั้งการทำงานของโปรตีนชนิดนี้ก็สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน และยังได้ผลกับการรักษามะเร็งหลายประเภทอีกด้วย ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 2014 แอนติบอดีต้านโปรตีน ลิแกนด์ PD-1 (ligand PD-1) ก็ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้เป็นยาเพื่อการทดลองรักษามะเร็งต่อไป

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://science.mahidol.ac.th/th/activity/oct61-10-1.php

Read Full Post »

02ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้จัดตั้ง “โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์” เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมประเภทวิชาอื่นๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปัจจุบัน โดยร่วมกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ ก่อสร้างอาคารบรรยาย และอาคารทดลองวิทยาศาสตร์ พร้อมอุปกรณ์วิจัยที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังได้ติดต่อขอความช่วยเหลือ จากองค์กรต่างประเทศอื่นๆ เพื่อขอความสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย จนทำให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นฐานปฏิบัติการวิจัยที่สำคัญที่สุดของประเทศ และของภูมิภาคในขณะนั้น ก่อนจะริเริ่มโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสและเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของประเทศ โดยร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 99 ปี นับจากวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Café ตอน รำลึกแบบเรียน ฉบับ 99 ปี อาจารย์สตางค์ เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสร้างคุณูปการแก่วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยไว้มากมาย โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2542-2550) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 3 ท่านล้วนเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์ มาร่วมเสวนาเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านวิชาการของอาจารย์สตางค์ งานวิจัยเมื่อแรกเริ่มของอาจารย์สตางค์ และความยากง่ายในการทำงานวิจัยด้วยเครื่องมือเครื่องใช้เมื่อ 60 ปี ก่อน รวมทั้งการเรียนการสอนในสมัยอาจารย์สตางค์ วิชาที่อาจารย์สตางค์เป็นผู้สอน รูปแบบและลักษณะการสอน ความพิเศษและน่าทึ่งของอาจารย์สตางค์ในมุมมองของลูกศิษย์ การทำให้คนเก่งมาเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงวิสัยทัศน์ของอาจารย์สตางค์กับการเชื่อมโยงปัจจุบันและอนาคตในด้านการวางรากฐานวิทยาศาสตร์และวิจัยพื้นฐาน ที่ส่งผลถึงวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ปิดท้ายด้วยอนาคตทางวิทยาศาสตร์ไทยผ่านสายตาของอาจารย์สตางค์ด้วยมุมมองของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถามคำถามอื่นๆ ในวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2561 เวลา 13.30 – 15.45 น. ณ ห้องประชุม N101 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ทั้งนี้ตลอดการเสวนา มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/MahidolSC

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://science.mahidol.ac.th/th/activity/jul61-16-1.php

Read Full Post »

09 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) — คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาเรื่อง ไขความจริงทางวิทยาศาสตร์ของ “ไข้เลือดออก” โดย ศ. ดร.ศุขธิดา อุบล ภาควิชาจุลชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเดงกี่ และ ผศ. พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ภาควิชาจุลชีววิทยา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อในเด็ก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดโรค อาการ การป้องกัน และการรักษา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน

ศ. ดร.ศุขธิดา ระบุว่า พาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออกคือ ยุงบ้าน ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามียุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกจากการกัดผู้ป่วยโดยตรงร้อยละ 0.2-2.0 และสามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงสู่ลูกยุงผ่านไข่ได้ ทั้งนี้เชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ มีทั้งเชื้อก่อโรครุนแรงและไม่รุนแรง สำหรับอาการของนายทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ) ดาราหนุ่มนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์หรือไม่ จนกว่าจะแยกเชื้อไวรัสและศึกษาพันธุกรรม รวมถึงคุณสมบัติของไวรัสก่อน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงของโรคเกิดจากระบบภูมิต้านทานของตัวผู้ป่วย โดยผู้ติดเชื้อครั้งที่ 2 ด้วยสายพันธุ์ที่ต่างจากครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงมากกว่า 15-80 เท่าของคนที่ติดเชื้อครั้งแรก และถ้าการติดเชื้อในครั้งที่ 2 ข้ามสายพันธุ์ในระยะมากกว่า 6 เดือน – 2 ปี จะทำให้ภูมิต้านทานลดต่ำลง และไปส่งเสริมให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เม็ดเลือดขาวไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส 100-1,000 เท่า และไปทำลายเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือดเสีย ทำลายเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด จนนำไปสู่ภาวะช็อค นอกจากนี้ยังมี NS1 ซึ่งเป็นท็อกซินของไวรัสเดงกี่ ถ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นพร้อมกับที่มีจำนวนของไวรัสมากขึ้น และไปจับกับโปรตีนบนผิวของเม็ดเลือดขาว จะทำให้ผนังหลอดเลือดรั่ว

25ผศ. พญ.อรุณี กล่าวเสริมว่า เมื่อเกล็ดเลือดถูกทำลาย ติดเชื้อในสเต็มเซลล์ที่สร้างเกล็ดเลือด และไปกดการสร้างท็อกซินต่อร่างกาย จะทำให้ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เลือดออกง่าย หากมีแผล เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แล้วรับประทานยาในกลุ่มลดไข้สูงจะไปกัดกระเพาะอาหารจะยิ่งเกิดการอักเสบ มีแผลมากขึ้น และเสียเลือดไปเรื่อย ๆ เลือดจะเข้มข้นขึ้น มีน้ำเหลืองรั่วออกมา และช็อคในที่สุด ปกติคนไทยจะรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ในปริมาณที่มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ ไม่เกินวันละ 6 เม็ด หรือ 1-1.5 เม็ดต่อมื้อ แต่คนที่เป็นไข้สูงมักรับประทาน 2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมง เฉลี่ย 10-12 เม็ดต่อวัน ทำให้ตับมีปัญหา จึงอยากรณรงค์ให้มีการรับประทานยาลดไข้อย่างถูกต้อง รวมถึงหากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกในช่วงกำลังมีประจำเดือน หรือขณะมีประจำเดือน ให้แจ้งแพทย์ผู้รักษา แพทย์จะให้ยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อลดปัญหาโรคแทรกซ้อน เพราะเคยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิตขณะมีประจำเดือนมาแล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อน

ทั้งนี้ผู้ป่วยไข้เลือดออกระยะเริ่มแรกมักแยกอาการไม่ออกกับไข้ปกติ หากมีไข้สูงเกิน 2-3 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระบอกตา กระดูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสภาพร่างกายด้วย ในผู้ใหญ่มักวินิจฉัยโรคได้ช้า ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ไม่มีการวัดไข้ และมีสติดี คิดว่านอนพักฟื้นแล้วจะดีขึ้น คนที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่อาศัยอยู่คนเดียว จากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดคือ ทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อขณะแม่ตั้งครรภ์ ส่วนอายุมากที่สุดคือ 92 ปี โดยกลุ่มหลักที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมากที่สุดในขณะนี้คือ ผู้มีอายุระหว่าง 10-25 ปี

สำหรับการให้เลือดแก่ผู้ป่วย ศ. ดร.ศุขธิดา กล่าวว่า จะไม่ให้เกล็ดเลือดกับผู้ป่วยทุกราย หากไม่มีแผลเลือดออก เกล็ดเลือดจะเพิ่มปริมาณเองโดยธรรมชาติเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น ส่วนการบริจาคเลือดในขณะนี้ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกจึงน่าเป็นห่วง เพราะบางคนไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ส่วนการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกนั้นยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก โดยทั่วไปอาการของโรคจะรุนแรงในวันที่ 4-5 แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หลังจาก 2-3 วันไปแล้ว แพทย์มีโอกาสให้ยาเพียง 1-2 วันจึงไม่สามารถรักษาได้ทัน ความหวังจึงอยู่ที่การใช้วัคซีนป้องกันเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน โดย ศ. นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และ รศ. ดร.สุธี ยกส้าน เป็นนักวิจัยกลุ่มแรกในโลกที่พัฒนาเชื้อไวรัสเดงกี่อ่อนฤทธิ์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาออกมาเป็นวัคซีนได้ ทั่วโลกพยายามทำวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากไวรัสเชื้อเป็นและเชื้อตาย และโปรตีนบางส่วนของไวรัส แต่ที่พัฒนาได้ไกลที่สุดคือ นำโปรตีนของเปลือกหุ้มไวรัสมาโคลนอยู่ในไวรัสไข้เหลืองและใช้ในแอฟริกา จากการทดสอบในประชากรพบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดเพียงร้อยละ 60 และครอบคลุมเฉพาะเดงกี่ที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยฉีดเข้าไปพร้อมกัน แต่เกิดปัญหาการต่อสู้กันเองของแต่ละสายพันธุ์ ทำให้ภูมิต้านทานไม่เท่ากัน อีกทั้งไม่ครอบคลุมถึง NS1 ท็อกซินของไวรัสที่ก่อปัญหา

            “ปัจจุบันนักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ในการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูกเพื่อป้องกันไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ได้ยากที่สุด หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผล ให้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ เหตุที่ใช้การพ่นทางจมูกเนื่องจากการให้วัคซีนโดยการฉีดประมาณ 3-4 ครั้ง เด็กมักงอแง การพ่นจมูกจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยนักวิจัยจะทำการทดลองกับสัตว์ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนทำการทดลองในคนซึ่งต้องทำกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยเกี่ยวกับไข้เลือดออกและการผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าใช้งบประมาณ 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่ คือ ความรวย เพราะการใช้ชีวิตที่สุขสบายตั้งแต่เด็กจะทำให้มีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชิ้อได้มากขึ้นและง่ายขึ้น” ศ. ดร.ศุขธิดา กล่าวทิ้งท้าย

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2558/nov58-13.htm

Read Full Post »

06รายการเสวนาพิเศษ Science Café วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบประเด็นร้อนในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อ คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศมอบ รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2015 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาวิจัยเพื่อยับยั้งการติดเชื้อจากกลุ่มปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคและการค้นพบยารักษาโรคมาลาเรีย จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นภายใต้หัวข้อ “Avermectin และ Artemisinin สำคัญอย่างไร จึงได้รางวัลโนเบล” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย พ.ศ. 2557 และ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี จากภาควิชาเคมี เป็นพิธีกรรับเชิญ

ในช่วงต้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้อธิบายถึงที่มาของการค้นคว้ายารักษาโรคมาลาเรียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีความน่าสนใจมากเมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่มีความสัมพันธ์กับวิทยาการทางการแพทย์โบราณ โดยตำราสมุนไพรจีนอายุมากกว่าสองพันปีได้ระบุถึงคุณสมบัติของ ชิงเฮา ที่สามารถรักษาอาการไข้หรือโรคมาลาเรียในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าอย่างจริงจังในการสกัดจนได้ยา Artemisinin ที่สามารถยับยั้งโรคมาลาเรียได้สำเร็จ

ศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้อธิบายเสริมว่าแท้จริงแล้ว Prof. Tu Youyou สามารถสกัดยา Artemisinin ได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติที่ดีที่สุดในการฆ่าเชื้อมาลาเรียทุกชนิด และแทบไม่มีผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับ ควินิน ที่เคยใช้มาแต่อดีต การวิจัยเพื่อพัฒนายาชนิดนี้ยังคงดำเนินการเรื่อยมาแต่ประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากกลุ่มประเทศยุโรปเนื่องจากกระบวนการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งประเทศจีนต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี ในการปรับและพัฒนาจนได้รับการยอมรับจาก WHO ในที่สุด

ปิดท้ายที่ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวชื่นชม Prof. Tu Youyou ว่าเป็นสุภาพสตรีที่มีความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น ได้รับการขนานนามว่า “three noes” winner คือ no medical degree, no PhD และ never work overseas แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถทำการค้นคว้าจนประสบความสำเร็จ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของประเทศจีนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ขณะที่ Prof. Satoshi Omura ผู้ได้รับรางวัลอีกท่านหนึ่งก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทในสาขา Science Education แต่ท่านตั้งใจศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องจนมีผลงานมากมาย ทำให้สามารถดำเนินการขอวุฒิปริญญาเอกจาก Tokyo University ได้ถึงสองสาขาคือสาขา Pharmaceutical Science และ Chemistry และได้ผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวาสารวิชาการมากกว่า 1,200 เรื่อง

งานเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานภายนอก สำหรับกิจกรรม Science Café โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นประจำในวาระสำคัญต่างๆ ที่เป็นประเด็นสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมงานเสวนา สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ www.sc.mahidol.ac.th

15

: : โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : :
: : ข่าวจาก Facebook Fanpage ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ : :

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2558/oct58-8.htm

Read Full Post »

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2557 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเสวนาในรูปแบบ Science Café เรื่อง “เฝ้าระวัง…ไวรัสอีโบลา” โดยมีวิทยากรให้ความรู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี  ธิตธัญญานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ การเสวนาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา

สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลานี้ เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งร้ายแรงถึงเสียชีวิต เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกัน และรักษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี  ธิตธัญญานนท์ อธิบายว่า ไวรัสอีโบลา มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ไม่ก่อโรคในคน บางสายพันธุ์ก็ก่อโรค แต่สำหรับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดและค่อนข้างรุนแรงนี้คือสายพันธ์ “ซาอียร์” (Zaire) ไวรัสอีโบลา มีความทนทานโดยสามารถอยู่ในที่เย็นและเปียกได้ถึง 50 วัน แต่สามารถป้องกันได้ด้วยสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป รวมทั้งการดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน   อย่างไรก็ตามขนาดการติดเชื้อต่ำคือ แม้จะมีเชื้อปริมาณไม่มาก 10-100 ตัว ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ให้ความเห็นว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับการติดเชื้อโรคนี้มากเกินไป เนื่องจากการระบาดยังอยู่ในวงแคบ โรคนี้มีระยะฟักตัวสั้น และผู้ป่วยจะมีอาการหนัก ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้สะดวก ซึ่งต่างจากเชื้อไว้รัสเอชไอวี หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข จะยังคงมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบผู้ที่เดินทางมาจากแหล่งระบาดอย่างเข้มงวดอยู่เช่นเดิม และมีการเฝ้าระวังผู้อยู่ในข่ายอย่างใกล้ชิด การเสวนานี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 150 คน

19

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2557/aug57-4.htm

Read Full Post »

13เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2557 เวลา 10.00 น. – 11.30 น. ณ ห้องประชุม K 102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Science Cafe ในบรรยากาศสบาย ๆ เรื่อง “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ Middle East Respiratory Syndrome Corona virus Infection (MERS-CoV Infection) โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ร่วมเสวนา และ ดร.พญ.พรพรรณ มาตังคสมบัติ ชูพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เป็นผู้ดำเนินรายการ การเสวนาให้ความรู้และข้อมูล เกี่ยวกับ Mers-CoV โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 เริ่มระบาดในประเทศซาอุดิอาระเบียและตะวันออกกลาง โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ในทางต่างประเทศ พบรายงานผู้ป่วยทั้งหมด จาก 14 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกรีซ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในตระกูล coronavirus สายพันธุ์ใหม่พบได้ในตะวันออกกลาง อาการหลักคือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารและลำไส้ได้บ้าง สถานการณ์ ในปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรค Mers – CoV ในประเทศไทย แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่โรคติดเชื้อไวรัสในตระกูล coronavirus จะแพร่ระบาดในประเทศไทย เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือแสวงบุญ (พิธีฮัญจ์หรือพิธีอุมเราะห์) ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) มีโอกาสติดเชื้อและนำโรคมาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ โรคนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากอูฐเป็นแหล่งโรควิทยากรจึงแนะนำว่า อย่ายุ่งเกี่ยวกับอูฐ ไม่ว่าด้วยกิจกรรมใดใด ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย โรค Mers – CoV เป็นสายพันธุ์เดียวกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน มีอาการคล้าย SARS เชื้อ Mers – CoV นั้นอยู่นอกร่างกายได้นานกว่า เมื่อเทียบกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ คืออยู่ได้เป็นวัน ในส่วนของการรักษา ยังไม่มีวิธีการเฉพาะ แต่เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น โดยการป้องกันตัวเองนั้นเหมือนกับ การป้องกันตัวจากโรคหวัดทั่วไป การปฏิบัติตนคือ การรักษาอนามัยของตนเอง คือ ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือล้วงแคะจมูก หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย หากเป็นไปได้ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงควรเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยและ/หรืออูฐ เมื่อไปในประเทศที่มีการระบาดมาแล้ว หากมีอาการป่วยภายใน 14 วัน ให้รีบพบแพทย์ และควรให้ประวัติการเดินทางและการสัมผัสแหล่งโรค การเสวนานี้โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 80 คน

21

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2557/apr57-24.htm

Read Full Post »

เมื่อวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2556 เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม N 101 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท จัดกิจกรรมเสวนาเสวนาพิเศษ Science Café เรื่อง “นักวิทย์ มหิดล กับทางออกของวิกฤติน้ำมันรั่วในอ่าวไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ดร. พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา โดยมีนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ http://www.youtube.com/user/mahidolchannel

Untitled-2

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2556/jul56-31.htm

Read Full Post »

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 เวลา 15.15 – 16.40 น. ณ ห้องประชุม N101 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ภาควิชาฟิสิกส์ได้รับการประสาน Mr. Peter McLeish นักบรรยายเชิงวิทยาศาสตร์ และนำเสนอภาพยนตร์ ในสถาบันพิพิธภัณฑ์/ศูนย์วิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เพื่อมาให้ความรู้ เรื่อง “Red Sprites” ไขปริศนา ฟ้ายอแสง เมื่อความลับความสวยงามของธรรมชาติถูกเปิดเผย เพื่อเป็นการเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ ในรูปแบบเสวนาพิเศษ Science Café มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 120 คน

Red Sprite คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของแสงในชั้นบรรยากาศ ที่เกิดขึ้นช่วงฝนฟ้าคะนอง และเกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่เศษเสี้ยวของระยะเวลากระพริบตาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสามารถเก็บภาพและบันทึกภาพปรากฏการณ์นี้ไว้ได้ โดยผ่านการถ่ายภาพด้วยกล้องในสภาวะแสงน้อย (Low Level Television) Red Sprites เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติฟ้าผ่าในชั้นบรรยากาศรูปแบบใหม่ที่ค้นพบล่าสุด และการค้นพบนี้ มีความสำคัญเปรียบเหมือนการค้นพบล่าสุด และการค้นพบนี้มีความสำคัญเปรียบเหมือนการค้นพบเจออวัยวะใหม่ในร่างการมนุษย์

ภาพยนตร์ Hundred Year Hunt for the Red Sprite เป็นภาพยนตร์ 42 นาที สร้างโดย Peter Mcleish เกี่ยวกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศที่น่าอัศจรรย์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อใด ที่ปรากฏการณ์สภาพอากาศที่มีชื่อเหมือนมาจากโลกอื่น เช่น Red Sprite เกิดขึ้นนั้น จะทำให้คุณคิดว่าเป็นบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษอย่างแน่นอน และ Red Sprite จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

ถึงแม้จะมีรายงานจากนักบินมาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่เชื่อการเกิด ของ Red Sprite จนได้มีการจักภาพวีดีโอความเร็วสูงไว้ โดยการกระพริบตาหนึ่งครั้งใช้เวลา 250 มิลลิวินาที ซึ่ง Sprite ส่วนมากคงอยู่จับภาพได้เพียงแค่ 10 มิลลิวินาทีเท่านั้น จึงมีการใช้กล้องและคอมพิวเตอร์จับภาพ Sprite ได้ทันเวลา

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2555/aug55-24.htm

Read Full Post »

เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2555 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม L01 อาคารเรียนรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ ดร. เดวิด รูฟโฟโล พร้อมด้วย นายสุภัคชัย พงศ์เลิศสกุล นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเชฟฟิล์ด (University of Sheffield) อังกฤษ นายรุจิภาส บวรทวีปัญญา นักศึกษาปริญญาโทด้านฟิสิกส์อนุภาค และนายไตร อัญญโพธิ์ นักศึกษาปริญญาโทจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาพิเศษรูปแบบ Science Café ในหัวข้อ Higgs Boson หรือ “อนุภาคพระเจ้า” จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ของการกำเนิดจักรวาล เพื่อทำความเข้าใจต่อการประกาศค้นพบอนุภาคใหม่ที่คาดว่าน่าจะเป็น “ฮิกกส์” (Higgs) ที่พยายามค้นหากันมานานกว่า 48 ปี ของสถานีทดลองสำคัญ 2 แห่ง ของเซิร์น (CERN) คือสถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (CMS) และสถานีตรวจวัดแอตลาส (ATLAS) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.55 ที่ผ่านมา สำหรับทฤษฎี Higgs Boson หรือ ” อนุภาคพระเจ้า ” จิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้าย ของการกำเนิดจักรวาล วันนี้ CERN ได้แถลงผลการทดลอง บทสรุปคือ Higgs Boson มีอยู่จริง !! ทีมฟิสิกส์แห่ง CERN แถลงผลการทดลอง จากเครื่องกำเนิดอนุภาค Large Hadron Collider ( LHC ) พบการกำเนิดอนุภาคที่มีลักษณะคล้ายกับทฤษฎี Higgs Boson หรืออนุภาค Higgs โดยมีมวลในระดับ 125 gigaelectronvolts (GeV) ซึ่งมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 5 sigma หรือความเชื่อถือได้ 99.999% คือ Higgs Boson มี ( 1960 ) กว่า 2 ทศวรรษ ที่ทฤษฎี Higgs Boson ได้ถูกเสนอขึ้น ก่อนจะออกตามล่ากัน จากเครื่องกำเนิดอนุภาค European Large Electron-Positron Collider มาถึง The Tevatron ในมลรัฐอิลินอยด์ ก่อนจะปิดจ๊อบส์การค้นหาลงที่ Large Hadron Collider ( LHC ) เครื่องกำเนิดอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา

Peter Higgs กล่าว การค้นพบ Higgs Boson อาจจะไม่ได้มีความสำเร็จอย่างรูปธรรม ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ และไม่รู้ว่า Higgs Boson จะสามารถทำอะไรได้บ้าง? แต่ Higgs Boson คือการค้นพบ ครั้งสำคัญ อันจะสามารถอธิบาย ปฏิสัมพันธ์ของอนุภาคได้ทั้งหมด … และเชื่อเหลือเกินว่ามันจะเปลี่ยนอนาคตของมนุษยชาติได้แน่นอน เพียงแต่ “ช้า” หรือ “เร็ว” เท่านั้นเอง!!

ทางด้าน ศ.ดร. เดวิด รูฟโฟโล ยังได้ตอบคำถามทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ถ้าอนุภาคโบซอนใหม่ที่เซิร์นพบไม่ใช่ฮิกกส์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่โอกาสที่จะเป็นอนุภาคอื่นค่อนข้าง น้อย และตั้งแต่ปี 2537 ก็ยังไม่มีการค้นพบอนุภาคใหม่เลย การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี

ลิ๊งที่เกี่ยวข้อง >>  http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000085331

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/news/activity/2555/jul55-11-2.htm

Read Full Post »